แม้จะมีปัญหาเรื่องการระบาดของ โควิด-19 แต่การขับเคลื่อนคอนเทนต์บนหน้าจอทีวี ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป รวมถึงหลักสูตร BU Come one ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างช่องวัน 31 กับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็ยังคงเดินหน้าผลักดัน ผลิตบุคลากรคนรุ่นใหม่ด้านสายบันเทิง ผ่านโปรเจกต์พิเศษ โครงการ BU Come one มาถึงรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งน้องๆ ที่เข้าร่วมหลักสูตร BU Come One ต้องผ่านการออดิชั่น ส่งผลงานในสาขาต่างๆ มาทางออนไลน์

โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากช่องวัน31 เป็นผู้สัมภาษณ์ และคัดเลือก จนได้น้องๆ เลือดใหม่ มาเรียนรู้การทำงานฉบับจริง กับทีมงานมืออาชีพหลากหลายฝ่าย อาทิ ฝ่ายข่าว, ฝ่ายรายการวาไรตี้ , ฝ่ายเขียนบท เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง

โดยในครั้งนี้ มีผู้ที่สามารถผ่านเข้ามาร่วมทำงานจริง จำนวนรวม 12 คน โดยแบ่งเป็น ฝ่ายข่าว “สำนักข่าววันนิวส์” จำนวน 4 คน ได้แก่ ธนากร นิตุธร, นิสาลักษณ์ เอี่ยมศิริ, พิชามญชุ์ ธวัลรัตน์โภคิน, จักรี ทิพบุญชู ฝ่ายเขียนบทละครโทรทัศน์ 2 คน ได้แก่ อาทิดติยา มะนีสัก, ร่มเกศ หล้าทุม และฝ่ายรายการวาไรตี้ 6 คน ได้แก่ ธนภร เมืองคำ, โยธิกา โสภา, ศุจิกาพรสินี พรหมวิจิต, อัญญมาศ บุญอยู่, จิดาภา ตุวานนท์ และ จุฑารัตน์ พุ่มโพธิ์ทอง

ซึ่งทั้งหมดจะได้ร่วมปฏิบัติงานจริง รวมทั้งต้องผ่านเกณฑ์การประเมินทุกมิติ จึงจะได้รับการบรรจุเข้าสู่การทำงานต่อไปในช่องวัน 31

โดยคุณเดียว วรตั้งตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท วันสามสิบเอ็ด จำกัด ได้กล่าวถึงโครงการ BU Come one ว่า “สำหรับโครงการ BU Come one ในปีที่ 3 นี้ เรายังคงมุ่งเน้นที่จะให้นักศึกษา ที่ผ่านเข้าโครงการมา ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติงานจริง เปิดโอกาสให้ได้ลองคิด ลองทำ จนไปถึงร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเหล่าทีมงานมืออาชีพ

เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ในการทำงานในอนาคต ซึ่งทางช่องวัน31 ให้ความสำคัญ และพร้อมที่จะเปิดโอกาสรับนักศึกษาที่มีศักยภาพโดดเด่นเข้ามาร่วมงานกัน เพราะเราเชื่อว่าความคิดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถือเป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่ง ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดีๆ ออกมาสู่ผู้ชมครับ” 

ด้าน ผศ.ดร.อริชัย อรรคอุดม คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้กล่าวว่า “การทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย กับองค์กรวิชาชีพภายนอก ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะได้ติดตั้งทักษะทางวิชาชีพให้กับนักศึกษาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในสายสื่อมวลชน

และมีการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะในอดีตนั้น กว่าที่นักศึกษาจะได้โอกาสไปฝึกงานกับสายวิชาชีพก็เป็นปีสุดท้ายของการเรียนแล้ว แต่โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ทำให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับวิชาชีพ ได้รู้ถึงทักษะของตัวเองว่าขาด หรือต้องเติมเต็มในส่วนไหน หรือมีความสนใจในด้านใดเป็นพิเศษได้รู้และค้นพบตัวเองก่อน เพื่อวางแผนสำหรับการทำงานในวงการสื่อสารมวลชนในอนาคต”